วันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

รู้ไว้ไม่เด๋อ พจนานุกรมศัพท์แชทของวัยรุ่น


รู้ไว้จะได้เข้าใจวัยรุ่นสมัยนี้นะครับ

กาก - อ่อนหัด ไร้ประโยชน์ หรือ ไม่ได้เรื่อง มีต้นกำเนิดของคำมาจากขยะ เศษกาก หรืออะไรที่ไม่มีประโยชน์  กิ๊ก
- เป็นคำสุภาพของคำว่า "ชู้"  หมายถึงเพื่อนต่างเพศที่มีความสำคัญมากกว่าเพื่อนทั่วไป (แต่ปัจจุบันเริ่มลามมาเป็นเพศเดียวกัน) คือมากกว่าเพื่อนแต่ยังไม่ถึงขั้นคนรัก ที่มาของคำยังไม่ชัดเจนว่ามาจากคำว่า "กุ๊กกิ๊ก" ที่หมายถึงลักษณะของวัยรุ่นที่กุ๊กกิ๊ก หรือ มาจากคำว่า "gig" ซึ่งเป็นคำแสลงในภาษาอังกฤษ แปลว่า กิจกรรมระยะสั้น

เกรียน
- เริ่มมาจากวงการเกมออนไลน์ที่ผู้เล่นส่วนมากจะเป็นเด็กชายวัยหัวเกรียน และบางคนจะมีพฤติกรรมที่แปลกๆ คือขี้อวด เบ่ง โอ่ว่าตนเองเก่ง หรือกวนประสาททำให้คนอื่นวุ่นวาย ดังนั้นจึงเป็นที่มาของคำว่า "เกรียน" ใช้เรียกคนที่มีพฤติกรรมหรือลักษณะดังกล่าว

ขำขำ
- เป็นฝาแฝดของคำว่า "จิ๊บจิ๊บ" หมายถึงว่า เรื่องเล็กน้อย อย่าซีเรียส ชิลๆ เช่น อกหักเรื่องจิ๊บๆ หาใหม่ก็ได้ (เหรอ)

แจ่ม
- มีรากฐานมาจากคำว่า "แจ่มใส" ที่ไม่ได้แปลว่าสำนักพิมพ์ แต่หมายถึงมองแล้วแจ่มใส สดชื่นสบายตา ใช้ในกรณีที่พบกับเหตุการณ์ที่ทำให้น่าพอใจ เช่น เจอหนุ่มหล่อหรือสาวสวย
 
เด้ง
- หมายถึงคนที่แต่งตัวแต่งหน้าโดดเด่นงามเริดกว่าปกติ เสมือนเป็นอะไรที่เด้งดึ๋งโผล่ขึ้นมาโดดเด่นท่ามกลางประชาชี

เด็กแว้น
- หมายถึงกลุ่มเด็กวัยรุ่นทั้งชายและหญิงที่ชอบขับขี่มอเตอร์ไซค์เสียงดัง และคิดกันไปเองว่า เสียงยิ่งดังยิ่งเจ๋ง คำว่า "แว้น" มาจาก เสียงแว้นนนนนที่ดังออกมาจากท่อไอเสียนั่นเอง ซึ่งร้อยละ 80 พบว่า หลังจากจบเสียงแว้นแล้ว ก็จะตามมาด้วยเสียงรถหวอนั่นเอง

นอย (noid)
- มาจากคำว่า paranoid และกลายเป็น noid ในที่สุด หมายถึงคนที่ชอบวิตกกังวลมากเกินเหตุ เช่น แฟนไปเที่ยวเชียงใหม่หลายวันก็เลยนอยด์แฟน เพราะกลัวว่าแฟนจะไปปิ๊งเด็กดอย

เนียน- หมายถึงพฤติกรรมที่แนบเนียนหรือแกล้งทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ เช่น ยังทำงานไม่เสร็จ แต่เพื่อนกลับบ้านหมดแล้ว เลยขอเนียนกลับด้วย

เมพขิง
- มาจากคำว่า "เทพจิงๆ" ที่มาจากคำว่า "เทพจริงๆ" อีกที มีที่มาจากอุบัติเหตุหรือความไม่ตั้งใจ นั่นคือพิมพ์ผิดเพราะแป้นมันอยู่ใกล้กันนั่นเอง ใช้สรรเสริญหรือยกย่องคนที่มีความสามารถ

เฟค
- หรือ fake ใช้เรียกคนที่มีพฤติกรรมปากอย่างใจอย่าง สร้างภาพ เช่น เกลียดเด็กเข้าไส้ แต่แสร้งทำเป็นกอดเด็ก

สก๊อย
- เป็นสัญลักษณ์คู่กับเด็กแว้น หมายถึงเด็กวัยรุ่นผู้หญิงที่นั่งซ้อนมอเตอร์ไซค์ของเด็กแว้น มักนิยมใส่เสื้อรัดติ้ว สายเดี่ยว เสื้อกล้าม และกางเกงขาสั้นเอวต่ำ หน้าจะต้องขาววอก และปากจะต้องแดงด้วยน้ำยาอุทัยทิพย์ตลอดเวลา

สาวแว่น
- ใช้เรียกสาวน้อยหรือสาวสวยที่ใส่แว่นแล้วดูหน้าตาน่ารักจิ้มลิ้ม แต่ถ้าใส่ออกมาแล้วดูแย่ อันนั้นเรียกป้า

อะเฟรด
- มาจากศัพท์ภาษาอังกฤษคำว่า afraid ที่แปลว่า กลัว ใช้ตำหนิหรือด่าคนหรือสิ่งของที่ดูสกปรก ซกมก ไม่น่าเข้าใกล้ เช่น ขี้ไคลติดปาก น้ำหมากติดฟัน เป็นต้น

โอ
 - มาจากคำว่า "โอเค" หมายถึง ใช้ได้ ตกลง เอาตามนี้แหละ เป็นการตัดคำให้กระชับและสั้นลงเพื่อความสะดวกในการพิมพ์
 

ขอขอบคุณ
http://www.dek-d.com/kpay

วันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

เรื่องที่คนทั่วไปมักเข้าใจเกี่ยวกับดาราศาสตร์ (ต่อ)

เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นหรือตก จะมองเห็นดวงอาทิตย์มีขนาดใหญ่กว่าปกติ เนื่องจากแสงจากดวงอาทิตย์ถูกหักเหโดยบรรยากาศโลก

ผิด !
ไม่เชื่อลองดูก็ได้
ลองทดสอบกับดวงจันทร์ดู ในคืนที่ฟ้าใส เดือนเพ็ญ หรือใกล้ ๆ เพ็ญ เตรียมกล้องถ่ายรูปพร้อมกับเลนส์เทเลโฟโต้ขนาดเหมาะมือสักอันหนึ่ง เมื่อดวงจันทร์ขึ้นจากขอบฟ้าตอนหัวค่ำ เราจะเห็นว่าดวงจันทร์มีขนาดใหญ่โตกว่าปกติ ถ่ายรูปดวงจันทร์ตอนนี้เอาไว้ภาพหนึ่ง หลังจากนั้นประมาณ 4-5 ชั่วโมง ดวงจันทร์จะขึ้นมาสูงถึงเกือบกลางศีรษระและแลดูขนาดเล็กกว่าตอนที่เห็นเมื่อ หัวค่ำมากมาย ให้ถ่ายภาพดวงจันทร์ตอนนี้อีกภาพหนึ่ง ด้วยเลนส์ตัวเดิม หลังจากล้างฟิล์มออกมาแล้วลองเปรียบเทียบขนาดของดวงจันทร์ของทั้งสองภาพดู
ภาพดวงจันทร์ทั้งสองภาพมีขนาดเท่ากันทุกประการ

เหตใดจึงเป็นเช่นนั้น?
เกิดจากสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่บริเวณขอบฟ้าเช่นหลังคาบ้าน ต้นไม้ ช่วยเสริมให้ภาพของดวงจันทร์ที่ขอบฟ้าดูมีขนาดใหญ่เกินจริง ในขณะที่ดวงจันทร์ที่อยู่มุมเงยสูง ๆ จะไม่มีอะไรอยู่เคียงข้างจึงดูเหมือนกับดวงเล็กลง คนที่เคยดูเครื่องบินโดยสารที่รันเวย์ของสนามบินก็จะรู้สึกว่าเครื่องบิน นั่นมีขนาดเล็ก ประมาณขนาดราว ๆ รถบัสสักคันเห็นจะได้ แต่เมื่อเห็นรถบันไดเข้าไปเทียบและมีคนเดินออกมาจึงได้ทราบว่าเครื่องบินลำ นั้นช่างใหญ่โตมโหฬารเสียจริง ๆ ในกรณีนี้ก็สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผลเดียวกัน ประสาทสัมผัสของคนเรามักถูกสิ่งแวดล้อมหลอกเอาอยู่เสมอ แต่กล้องถ่ายรูปที่เราใช้ทดลองมีความแม่นยำและซื่อตรงกว่าจึงเป็นสิ่งที่ พิสูจน์ข้อเท็จจริงข้อนี้ได้เป็นอย่างดี
ที่กล่าวว่าบรรยากาศของโลกหักเหแสงของดวงอาทิตย์นั้นก็มีส่วนจริง แต่ผลของการหักเหคือทำให้ตำแหน่งและสีของดวงอาทิตย์คลาดเคลื่อนจากความเป็น จริงเท่านั้น
หมายเหตุ
เหตุที่แนะนำให้ทำการทดลองกับดวงจันทร์แทนเนื่องจากปลอดภัยต่อสายตาและ กล้องมากกว่า หากทดลองกับดวงอาทิตย์ก็จะให้ผลเช่นเดียวกัน แต่จะต้องใช้อุปกรณ์กรองแสงที่เหมาะสมด้วย

ไม่ไปวันนี้ จะต้องรออีกกี่ปีแสง?

นี่ก็ไม่มี !
คำว่า "ปีแสง" เป็นหน่วยของระยะทาง ไม่ใช่หน่วยของเวลา เท่ากับระยะทางที่แสงเดินทางในเวลาหนึ่งปี ดังนั้นจึงมีแต่คำว่า "ไกลหลายปีแสง" หรือ "นายหลายปี" เท่านั้น ด้วยเหตุที่มีคำว่า "ปี" อยู่ด้วยจึงมักมีผู้เข้าใจผิดคิดว่ามันเป็นหน่วยของเวลา

 

จะดูอาทิตย์เที่ยงคืนก็ต้องไปนอร์เวย์

ไม่จำเป็น !
ขอเพียงพื้นที่นั้นอยู่ที่ละติจูดสูงกว่า 66.5 หรือต่ำกว่า -66.5 องศาก็มีโอกาสเห็นพระอาทิตย์เที่ยงคืนในกลางฤดูร้อนได้ทั้งนั้น

 

ทฤษฎีสัมพันธภาพของไอน์สไตน์

มีซะที่ไหนกัน !
ไอน์สไตน์ไม่เคยเขียนทฤษฎีอย่างว่านี้หรอก ทฤษฎีที่ชื่อ Theory of Relativity ของเขาน่ะเรียกว่า ทฤษฎีสัมพัทธภาพ ต่างหาก


สุริยุปราคาคือปรากฏการณ์ที่เงาดวงจันทร์ไปบังดวงอาทิตย์

ผิด !
คนมักพูดกันแบบนี้ จริง ๆ แล้วสิ่งกลม ๆ ดำ ๆ ที่ไปบังดวงอาทิตย์เวลาเกิดสุริยุปราคานั่นคือดวงจันทร์จริง ๆ ไม่ใช่เงาดวงจันทร์ เงาดวงจันทร์คือสิ่งที่มาพาดบนผิวโลก ทำให้บริเวณที่ถูกเงาพาดเกิดความมืดชั่วขณะ และคนที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวก็สามารถมองเห็นปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง ได้ เชื่อว่าคนส่วนใหญ่เข้าใจถูกต้องดีอยู่แล้วว่าอะไรบังอะไร แต่คงเพราะเห็นว่ามันเกี่ยวข้องกับความมืดกระมัง พอพูดหรือเขียนออกมาทีไรมักมีคำว่าเงาออกมาอยู่บ่อย ๆ เรียกว่าผิดเพราะลมปากพาไปแท้ ๆ
วงกลมสีดำที่บังดวงอาทิตย์ในปรากฏการณ์สุริยุปราคาคือดวงจันทร์ ไม่ใช่เงาดวงจันทร์

 

สู่สหัสวรรษใหม่ ปี 2000

ยัง
สหัสวรรษที่ 3 จะเริ่มเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ.2001 ไม่ใช่ปี 2000 เนื่องจากปี ค.ศ.เริ่มต้นที่ ค.ศ.1 ไม่ใช่ ค.ศ. 0 ดังนั้น การขึ้นสหัสวรรษใหม่จึงเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม ของปี 1001, 2001, 3001...
ในทำนองเดียวกัน การขึ้นศตวรรษใหม่จึงเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม ของปี 101, 201, 301... ด้วย

 

ผมใช้กล้องชมิดท์

ใช่เหรอ?
กล้องโทรทรรศน์ชนิดที่เป็นที่นิยมมากชนิดหนึ่งในหมู่นักดูดาวทั่วโลกคือ กล้องแบบชมิดท์แคสสิเกรน (Schmidt-Cassigrain) แต่เราจะเรียกกล้องชนิดนี้ย่อ ๆ ว่า "กล้องชมิดท์" ไม่ได้ เพราะหากพูดว่า "กล้องชมิดท์" จะหมายถึงกล้องอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งรูปร่างคล้าย ๆ กับกล้องแบบแคสสิเกรน ไม่มีเลนส์ตาสำหรับมอง แต่มีช่องด้านข้างกล้องสำหรับติดและถอดแผ่นเพลตแทน หรือไม่ก็มีสายไฟออกมาสำหรับให้ต่อเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ กล้องชมิดท์นี้เป็นกล้องสำหรับถ่ายภาพโดยเฉพาะ มีราคาแพงมาก เนื่องจากกล้องแบบชมิดท์แคสสิเกรนกับกล้องแบบชมิดท์ไม่เหมือนกัน ดังนั้นหากจะเรียกกล้องแบบชมิดท์แคสสิเกรน ควรเรียกตรง ๆ ว่า "ชมิดท์แคสสิเกรน" หรือถ้าจะเรียกย่อ ๆ ก็ควรเรียกว่า "กล้องเอสซีที" (SCT) มากกว่า

 

คืนเดือนหงายคือคืนที่ดวงจันทร์เป็นรูปเสี้ยวหงาย คืนเดือนคว่ำคือคืนที่ดวงจันทร์เป็นรูปเสี้ยวคว่ำ

มั่วแล้ว
เดือนหงายหมายถึงคืนที่เห็นดวงจันทร์ คำที่ตรงข้ามกันคือคำว่าเดือนมืด หมายถึงคืนที่มองไม่เห็นดวงจันทร์ ส่วนเดือนคว่ำไม่มี

 

ดาวประจำเมืองคือดาวที่อยู่กับที่ อยู่ทางทิศเหนือ เรียกอีกชื่อว่าดาวเหนือ

นี่ก็มั่ว
ดาวประจำเมืองคือดาวศุกร์ที่เห็นในช่วงหัวค่ำ ปรากฏอยู่บริเวณทิศตะวันตก อาจเฉียงเหนือหรือใต้ได้บ้าง แต่ไม่ใช่ทิศเหนือ และไม่ใช่ดาวเหนือ ดาวเหนือก็คือดาวเหนือ คนละดวงกัน
เข้าใจว่าคงเพราะดาวประจำเมืองมีคำว่า "ประจำ" อยู่นี่เอง ทำให้คนมักคิดไปว่าเป็นดาวที่ประจำอะไรสักอย่าง จึงไพล่ไปนึกถึงดาวเหนือซึ่งมีตำแหน่งประจำขั้วฟ้าเหนือ ซึ่งเป็นการเข้าใจผิด

 

ฝนดาวตกเกิดจากการที่ธารสะเก็ดดาวจากดาวหางเคลื่อนที่เข้ามาใกล้โลก แรงดึงดูดของโลกจึงดึงดูดสะเก็ดดาวเข้ามาสู่โลกกลายเป็นดาวตก

ผิดแล้ว
เคยเห็นข้อความนี้จากสื่อเผยแพร่ความรู้หรือบทความจากหน่วยงานไหนสักแห่ง ดู ๆ ไม่น่าจะผิดแต่ก็ผิด ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สะเก็ดดาวจากดาวหางตกลงสู่โลกจำกลายเป็นฝนดาวตก เกิดจากการที่เส้นทางการโคจรของโลกไปตัดกับธารสะเก็ดดาวเอง เมื่อโลกเคลื่อนที่ฝ่าเข้าไปในธารสะเก็ดดาว สะเก็ดดาวจึงเข้ามาสู่บรรยากาศโลกกลายเป็นดาวตก แรงดึงดูดของโลกแม้จะมีอยู่จริง แต่มีผลต่อการทิศทางการเคลื่อนที่ของสะเก็ดดาวน้อยมากจนแทบจะตัดออกไปได้เลย


ขอขอบคุณ
สมาคมดาราศาสตร์ไทย

วันพุธที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

เรื่องที่คนทั่วไปมักเข้าใจเกี่ยวกับดาราศาสตร์

ไม่แน่ อาจจะเป็นตัวผู้อ่านเองก็ได้ที่เข้าใจผิดอยู่ ลองมาดูกันครับ

1. ฤดูร้อนโลกจะเคลื่อนที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด

ผิด !
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจผิดกันมากที่สุด คนส่วนใหญ่เข้าใจกันว่าฤดูร้อนเกิดจากการที่โลกเคลื่อนที่เข้าใกล้ดวง อาทิตย์ และฤดูหนาวมีอากาศหนาวเกิดจากการที่โลกอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ จริงอยู่ที่ว่าโลกเรานั้นมีบางช่วงที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ และบางช่วงที่ถอยห่างจากดวงอาทิตย์ เนื่องจากโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรีเช่นเดียวกับดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ แต่วงรีนี้เป็นวงรีที่มีความรีน้อยมาก หรือกล่าวได้ว่าเกือบจะเป็นวงกลม ดังนั้นระยะห่างจากโลกถึงดวงอาทิตย์ของสองช่วงนี้จึงแตกต่างกันน้อยมากซึ่ง แทบจะไม่มีผลต่ออุณหภูมิเลย ยิ่งกว่านั้น ยังพบว่า ในฤดูหนาวโลกกลับอยู่ใกล้จากดวงอาทิตย์มากกว่าในฤดูร้อนเสียอีก แปลกใหมล่ะ?




แกนของโลกชี้ไปที่จุด ๆ เดียวในขณะที่โคจรรอบโลก ทำให้ซีกใดซีกหนึ่งของโลก
เอียงเข้าหาดวงอาทิตย์ในฤดูกาลหนึ่ง ๆ

กลไกสำคัญที่ทำให้เกิดฤดูกาลที่แท้จริงคือ ความเอียงของโลก โลกมีแกนเอียง 23.5 องศากับแนวตั้งฉากกับระนาบของระบบสุริยะ ดังนั้นจึงมีบางช่วงที่โลกหันซีกโลกเหนือเอียงเข้าหาดวงอาทิตย์ ส่วนซีกโลกใต้ก็หันเอียงออกจากดวงอาทิตย์ ช่วงนี้เองที่เป็นฤดูร้อนของซีกโลกเหนือ เนื่องจากแสงจากดวงอาทิตย์ส่องพื้นผิวโลกในส่วนที่เป็น- ซีกโลกเหนือในปริมาณมากกว่ามุมที่แสงแดดตกกระทบพื้นดินก็เป็นมุมมากกว่า และกลางวันก็ยาวกว่ากลางคืน ยกตัวอย่างเช่นประเทศไทย โลกจะหันประเทศไทยเข้าหาดวงอาทิตย์โดยตรงในช่วงเดือน- มีนาคมจนถึงพฤษภาคม ในขณะที่ทางประเทศออสเตรเลียเป็นช่วงฤดูหนาว เนื่องจากแสงแดดตกกระทบพื้นดินเป็นปริมาณน้อยกว่า และมีช่วงเวลากลางวันสั้นกว่าเวลากลางคืน เมื่อย่างเข้าช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม โลกจะหันด้านใต้เข้าหาดวงอาทิตย์แทน ฤดูกาลก็จะสลับกัน ช่วงนี้จะเป็นฤดูร้อนของทางซีกโลกใต้และเป็นฤดูหนาวของทางซีกโลกเหนือ
คริสต์มาสที่ประเทศออสเตรเลียไม่มีหิมะ ไม่ต้องใส่ชุดหนา ๆ แต่ผู้คนจะไปเที่ยวตามชายหาด ปักต้นคริสต์มาสบนหาดทราย ฉลองคริสต์มาสและเล่นน้ำทะเลตามประสาหน้าร้อน


แกนเอียงของโลกทำให้พื้นที่ในซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ได้รับ
ปริมาณแสงแดดไม่เท่ากัน

2. หางของดาวหางเกิดจากการเคลื่อนที่ของดาวหางเอง

ผิด !
ดาวหางเฮล-บอปป์
ดูจากรูปของดาวหางก็ชวนให้คิดว่าเป็นอย่างนั้นเหมือนกัน เพราะหางของดาวหางดูแล้วเหมือนกับเปลวไฟที่พุ่งจากท้ายของจรวด จึงทำให้ชวนคิดว่าดาวหางพุ่งไปข้างหน้าตามทิศทางที่หัวดาวหางชี้ไป และมักจะพาให้นึกไปอีกว่าเมื่อดาวหางปรากฏ มันคงจะเคลื่อนที่เร็วฉิวจนต้องสะบัดหน้าตาม มักมีคนถามอยู่เสมอ ๆ ว่า "มันวิ่งเร็วไหม?" , "จะดูทันหรือ?"
แท้จริงแล้วหางของดาวหางไม่ได้เกิดจากการเคลื่อนที่ของดาวหาง แต่หางของดาวหางนั้นเกิดจากลมสุริยะซึ่งเป็นกระแสธารของอนุภาคประจุไฟฟ้า พลังงานสูงที่พัดมาจากดวงอาทิตย์ หัวของดาวหางมีองค์ประกอบเป็นน้ำแข็งและฝุ่นเป็นส่วนใหญ่ เมื่อดาวหางเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ จะได้รับความร้อนและลมสุริยะจากดวงอาทิตย์ ทำให้น้ำแข็งในหัวของดาวหางเกิดการระเหิดเป็นก๊าซและพ่นออกมาจากรูเล็กรู น้อยในหัวดาวหาง และน้ำแข็งและฝุ่นก๊าซเหล่านี้ก็จะถูกลมสุริยะพัดออกไปตามทิศทางของลมสุริยะ ดังนั้นเราจึงเห็นว่าหางของดาวหางนั้นจะมีทิศทางชี้ไปทางตรงข้ามกับดวง อาทิตย์เสมอ


หางของดาวหางไม่ลู่ไปตามทิศทางการเคลื่อนที่ แต่ชี้ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์

3. กล้องตัวนี้เห็นได้ไกลกี่กิโลเมตรครับ?

เชยแหลก ! คนที่ถามแบบนี้เรียกว่าเชยที่สุด กล้องโทรทรรศน์ กล้องส่องทางไกลหรือกล้องสองตา ต้องวัดกำลังขยายเป็น "เท่า" เช่น 32 เท่า หมายถึงกล้องตัวนี้จะสามารถดึงภาพให้ใกล้เข้ามา 32 เท่า ซึ่งกล้องจะดึงภาพจากทุกระยะเข้ามา 32 เท่า ๆ กันหมด ต้นไม้อยู่ห่าง 32 เมตรก็จะเห็นในกล้องเหมือนกับอยู่ข้างหน้าแค่ 1 เมตร ภูเขาอยู่ห่าง 32 กิโลเมตร ก็จะดูเหมือนอยู่ใกล้ 1 กิโลเมตรดาวที่อยู่ไกล 320 ปีแสง ก็จะดูใกล้เหมือนกับดาวอยู่ห่าง 10 ปีแสงดวงจันทร์อยู่ห่างจากโลก 384,000 กิโลเมตร ถ้าเอากล้องตัวนี้มาส่องดู ก็จะเหมือนกับอยู่ใกล้

 

4. องศาเคลวิน

ไม่รู้จัก !
ไม่มีหน่วยนี้ในวิชาวิทยาศาสตร์ อุณหภูมิสัมบูรณ์ของพลังงานความร้อนนั้นมีหน่วยเป็น เคลวิน ไม่ใช่ องศาเคลวิน อุณหภูมิต่ำสุดที่เป็นไปได้คือ 0 เคลวิน หรือ -273 องศาเซลเซียส ดูเหมือนกับคำว่าองศาเคลวินจะถูกนำไปใช้กันอย่างผิด ๆ บ่อยกว่าคำว่าเคลวินเสียอีก ฝรั่งเองก็หลงอยู่บ่อย ๆ

 

5. Astronomy & Astrology

ระวัง !
คำคู่นี้มีผู้เข้าใจผิดนำไปใช้สลับกันอยู่บ่อย ๆ Astronomy คือ ดาราศาสตร์ ส่วนคำว่า Astrology คือโหราศาสตร์

เป็นอย่างไรกันบ้างครับ ต้องมีบางข้อแน่เลย ที่ผู้อ่านยังเข้าใจผิดอยู่ ก็ลองรับข้อมูลที่ถูกต้องไปนะครับ จะได้นำไปบอกลูกหลานได้ถูก



ขอขอบคุณ
สมาคมดาราศาสตร์ไทย